หน้าแรก เกี่ยวกับโครงการฯ ติดต่อเรา
กำหนดการ
เกณฑ์การพิจารณารางวัล
วิธีการรับสมัคร
คณะกรรมการพิจารณา
รางวัล
ผู้ได้รับรางวัล
คำถามที่ถูกถามบ่อย
ข่าว/กิจกรรม

ไทยพาณิชย์ ร่วมกับ ศศินทร์
ประกาศผลรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 14
เชิดชู 5 เอสเอ็มอีไทยสร้างธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

     ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศผลรางวัลเกียรติยศแห่งความภาคภูมิใจของเอสเอ็มอีไทย “Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 14” เชิดชูผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ไทยที่ประสบความสำเร็จในมิติที่มีความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อให้เป็นแรงบันดาลใจแก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้นำไปเป็นแบบอย่างในการพัฒนาธุรกิจ ในครั้งนี้มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับรางวัล 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท กรีนเดย์ โกลบอล จำกัด บริษัท กลัฟเท็กซ์ จำกัด บริษัท ดีดีซี สปอรกเก็ต จำกัด บริษัท สมใจ ค้าหนังสือเครื่องเขียน จำกัด และบริษัท สารัชมาร์เก็ตติ้ง จำกัด โดยพิธีมอบรางวัลกำหนดจัดขึ้นในวันพุธที่ 20 กุมภาพันธ์ 2562 นี้ โดยได้รับเกียรติจาก นายอานันท์ ปันยารชุน นายกกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นประธานมอบรางวัล

     รางวัล Bai Po Business Awards by Sasin เป็นรางวัลเกียรติยศที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจชั้นนำของประเทศ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 จนถึงครั้งนี้เป็นครั้งที่ 14 มีผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลแล้วทั้งสิ้น 71 บริษัท เพื่อยกย่อง และชื่นชมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี ที่มียอดขายตั้งแต่ 50 ล้านบาท – 500 ล้านบาท และดำเนินธุรกิจไม่ต่ำกว่า 3 ปี  ที่มีความสามารถในการปรับตัว สร้างธุรกิจให้เติบโต และประสบความสำเร็จ และเพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้ประกอบการไทยรายอื่นๆ ได้นำไปเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจ และเพื่อให้การตัดสินรางวัลมีความเป็นกลาง ธนาคารไทยพาณิชย์ไม่ได้มีส่วนในการพิจารณารางวัลแต่อย่างใด และผู้ประกอบการที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าร่วมพิจารณารางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าของธนาคาร   ดังนั้น  รางวัลนี้จึงเป็นรางวัลของผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพอย่างแท้จริง ซึ่งผู้ที่ได้รับรางวัลสามารถใช้ตราสัญลักษณ์ของรางวัลในสินค้าและสถานประกอบการ เพื่อเป็นเครื่องหมายรับรองความโดดเด่นของกิจการ และสินค้าต่างๆ ที่จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางการตลาด รวมถึงเป็นเครื่องหมายสะท้อนความน่าเชื่อถือแก่ลูกค้า หรือคู่ค้าของธุรกิจที่ได้รับรางวัล

     ปัจจุบันธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ต้องเผชิญกับสภาวะการแข่งขันทางการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในระดับนานาชาติ ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจไทยสามารถก้าวสู่เวทีการแข่งขันได้อย่างยั่งยืน คือ การสร้างความแตกต่างทางธุรกิจ ดังนั้นคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านวิชาการ ด้านธุรกิจ จะพิจารณาว่าผู้ได้รับรางวัลมีการปฏิบัติอย่างยอดเยี่ยมในมิติทางธุรกิจ มิติใดมิติหนึ่ง หรือหลายมิติประกอบกัน อันเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้กิจการมีความโดดเด่นต่อศักยภาพในการแข่งขันของธุรกิจเอสเอ็มอี

     ทั้งนี้ เกณฑ์การพิจารณา ประกอบด้วย 8 มิติ ได้แก่ 1. องค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainable Business Practice) 2. องค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Innovative Enterprise) 3. การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า (Customer- Focused Product and Service) 4. การบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด (Branding and Marketing) 5. การบริหารจัดการด้านการปฏิบัติการ (Operational Best Practice) 6. การบริหารจัดการด้านการเงิน  (Financial Strength) 7. การบริหารจัดการด้านบุคลากร  (People Excellence) และ 8. การสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurship)

     คณะกรรมการตัดสินจะพิจารณามอบรางวัลแก่ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยไม่มีการจัดอันดับ และไม่จำกัดจำนวนผู้ได้รับรางวัลในแต่ละปี ในครั้งนี้ คณะกรรมการได้พิจารณาคัดเลือกบริษัทผู้ประกอบการที่สร้างธุรกิจให้มีความโดดเด่น ซึ่งสมควรได้รับรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 14 รวม 5 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท กรีนเดย์ โกลบอล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผัก ผลไม้แปรรูป ภายใต้แบรนด์ “Greenday” 2. บริษัท กลัฟเท็กซ์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายถุงมือกันภัย ชุดยูนิฟอร์มและอุปกรณ์ความปลอดภัย ภายใต้แบรนด์ “Microtex” 3. บริษัท ดีดีซี สปอรกเก็ต จำกัด ผู้ออกแบบ ผลิต และจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ รายแรกและรายเดียวในไทยที่นำเทคโนโลยี Fine Blanking มาใช้ผลิตแมคคานิคประเภทเหล็ก 4. บริษัท สมใจ ค้าหนังสือเครื่องเขียน จำกัด ผู้ประกอบการร้านเครื่องเขียนและอุปกรณ์การเรียน และ 5. บริษัท สารัชมาร์เก็ตติ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์มะขามแปรรูป ภายใต้แบรนด์ “สารัช”

     นายชัยรัตน์ คงศุภมานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  บริษัท กรีนเดย์ โกลบอล จำกัด กล่าวว่า “บริษัทรู้สึกภูมิใจอย่างมากที่ได้เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 14 ในมิติ องค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และการบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด ทั้งนี้ ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพมีแนวโน้มขยายตัวทั่วโลก ดังนั้น การทำธุรกิจต้องมี Barriers to Entry ป้องกันไม่ให้คู่แข่งตามทัน และต้องผลิตสินค้าให้คุณภาพดีเหมือนกับที่เรารับประทานเอง ผู้บริโภคก็จะสัมผัสถึงความแตกต่าง  กรีนเดย์จึงควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นทางการผลิต เช่น พัฒนาเมล็ดพันธุ์กระเจี๊ยบ แล้วทำคอนแทรคฟาร์มมิ่ง (Contract Farming) กับเกษตรกร ให้ปลูกแบบไร้สารเคมี จากนั้นก็พัฒนารสชาติให้เข้ากับความนิยม ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนการขายในประเทศ  30%  และสัดส่วนการขายตลาดต่างประเทศอีก 70% และสำหรับปี 2561 ที่ผ่านมา กรีนเดย์มียอดขาย 400-500 ล้านบาท และในปี 2562 ตั้งเป้าจะดันยอดขายให้เติบโตถึง 1,000 ล้านบาท”

     นายเสริมศักดิ์ วงศ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลัฟเท็กซ์  จำกัด  เปิดเผยว่า “บริษัทรู้สึกภูมิใจอย่างมากที่ได้รับรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 14 ในมิติองค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม การบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า และการบริหารจัดการด้านการปฏิบัติการ รางวัลนี้สะท้อนถึงวิชั่นของบริษัทที่แม้ต้องแข่งขันกับต่างประเทศเป็นหลัก แต่ไม่ได้มองว่าเป็นอุปสรรค เพราะมั่นใจองค์ความรู้ที่มีและการเข้าไปทำงานร่วมกับลูกค้า ทำให้รู้ปัญหาที่แท้จริง แล้วจึงเข้าไปแก้ปัญหาให้แบบ Tailor-Made ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม  และผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ราคาเหมาะสมกับการใช้งาน เพื่อช่วยให้ลูกค้าประหยัดต้นทุนสูงสุด  โดยในปี 2561 ที่ผ่านมาบริษัทมียอดขาย 430 ล้านบาท  และตั้งเป้าว่าในปี 2562 จะมีรายได้เติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 15%”

     นายคมเดช วิจิตรจรัสกุล  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีดีซี สปรอกเก็ต จำกัด  กล่าวว่า “นับเป็นเกียรติอย่างสูงที่บริษัทได้รับรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 14 ในมิติองค์กรที่มีการสร้างสรรค์นวัตกรรม การบริหารจัดการด้านการปฏิบัติการ และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการทั้งนี้ ธุรกิจของดีดีซีไม่ได้แข่งกับคนไทยด้วยกันเอง แต่กำลังแข่งกับต่างชาติ ด้วยจุดแข็งเรื่องเทคนิคการผลิตที่คิดค้นขึ้นเอง และสามารถออกแบบและผลิตแม่พิมพ์สำหรับ Fine Blanking ได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ จึงได้เปรียบในเรื่องต้นทุนและยังสามารถผลิตสินค้าออกสู่ตลาดรวดเร็ว ทำให้บริษัทสามารถแข่งขันกับต่างชาติที่ขึ้นชื่อเรื่องมาตรฐานสูงได้สำเร็จ ทำให้ในปี 2561 ที่ผ่านมียอดขาย 336 ล้านบาท  และตั้งเป้าว่าในปี 2562 จะดันยอดขายให้เพิ่มสูงขึ้นอีก 30%”

     นางสาวนพนารี พัวรัตนอรุณกร  กรรมการบริหารฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท สมใจ ค้าหนังสือเครื่องเขียน  จำกัด กล่าวว่า “บริษัทรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้รับรางวัลทรงคุณค่า Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 14 ในมิติการบริหารจัดการด้านสินค้าและบริการที่สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า การบริหารจัดการด้านการสร้างตราสินค้าและการตลาด และการบริหารจัดการด้านบุคลากร  สิ่งที่ทำให้ร้านสมใจยืนหยัดมากว่า 63 ปี เพราะเรามีความเป็น Specialty ด้านอุปกรณ์ศิลปะที่ครอบคลุมงานศิลป์ทุกประเภท  เราไม่ได้เข้าไปแตะตลาดของแบรนด์อื่น ถึงแม้ว่าจะใหญ่กว่า เพราะสมใจมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจน เช่น ศิลปิน นักเรียน นักศึกษา ที่เขาต้องการสินค้าเฉพาะที่หาได้ที่ร้านสมใจ และต้องการคำแนะนำจากผู้ขายที่มีความรู้จริงเรื่องสินค้าทุกชนิด นี่คือสิ่งที่เราพัฒนาคนของเราให้เป็นมากกว่าพนักงานขาย และเรามุ่งพัฒนาเฮาส์แบรนด์ให้ตอบโจทย์ลูกค้า ทั้งด้านราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดแต่คุณภาพเทียบเท่าหรือดีกว่า โดยในปี 2562 นี้ตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจอยู่ที่ 10 - 15%”

     นางสุภาลักษณ์ กมลธรไท กรรมการผู้จัดการ บริษัท สารัชมาร์เก็ตติ้ง จำกัด  กล่าวว่า “นับเป็นเกียรติอย่างสูงที่บริษัทได้รับรางวัลเกียรติยศ Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 14 ในมิติองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน  การบริหารจัดการด้านบุคลากร และการสร้างธุรกิจด้วยพลังแห่งการเป็นผู้ประกอบการ สิ่งที่ทำให้สารัชเติบโตได้ในตลาดที่แข่งขันสูงและวัฎจักรการเลียนแบบสินค้ากลายเป็นเรื่องธรรมดา เพราะเราคำนึงถึงความจริงใจต่อผู้บริโภค ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบที่ดี และไม่ใส่ส่วนผสมที่ไม่ดีต่อสุขภาพให้กับลูกค้า ใช้จุดแข็งเรื่องของการอยู่ในแหล่งมะขามทำให้ได้วัตถุดิบคุณภาพ  ทั้งยังมีโรงงานผลิตเป็นของตัวเองจึงได้เปรียบเรื่องต้นทุน ทำราคาแข่งขันในตลาดได้ และมีการสร้างห้องเย็นจัดเก็บมะขามขึ้นเป็นรายแรก ทำให้มีวัตถุดิบเพียงพอต่อการแปรรูปได้ทั้งปี  และยังช่วยเหลือเกษตรกรในปีที่มะขามล้นตลาดอีกด้วย  ที่สำคัญธุรกิจจะยั่งยืนได้ต้องไม่หวังแต่ผลกำไร แต่เราต้องคืนกำไรกลับสู่ชุมชน และสิ่งแวดล้อมด้วย  โดยในปี 2562 ตั้งเป้าจะผลักดันยอดขายให้เติบโตที่ 200 ล้านบาท”


ผู้ได้รับรางวัล Bai Po Business Awards by Sasin ครั้งที่ 14